นโยบายบริษัท
นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption)
หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้และโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ทั้งนี้ การทุจริตคอร์รัปชั่น ให้หมายความรวมถึง การให้หรือการรับสินบน การฉ้อฉล คดโกง ยักยอก การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม โดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ ให้คำมั่นหรือเรียกร้อง ให้หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ บุคลากรของคู่ค้าและลูกค้า บุคคลทั่วไปที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกระทำเพื่อให้ได้มาหรือรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง เว้นแต่การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติในมูลค่าที่พอเหมาะสมและพอควร
การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contributions)
หมายถึง การให้เงินทุน รวมถึงการให้กู้เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนในนามของบริษัท ในกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยที่กระทำได้ตามที่กฎหมายกำหนด
การบริจาคเพื่อการกุศล (Charity)
หมายถึง การให้เงิน หรือทรัพย์สิน โดยสมัครใจแก่องค์กร หรือบุคคล เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อการศึกษา หรือการกีฬา โดยไม่ได้คาดหวังผลประโยชน์ตอบแทนในเชิงพาณิชย์และไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตน
เงินสนับสนุน (Sponsorships)
หมายถึง การใช้เงินทุนสำหรับการบริการ หรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและติดตาม ซึ่งอาจถูกเชื่อมโยงกับการให้สินบน โดยมีจุดประสงค์แอบแฝง เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (ตัวอย่างความได้เปรียบในการพิจารณา ได้แก่ การให้สัญญา โอกาสทางธุรกิจ หรือการประมูล การลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียม การให้ ช่วยเหลือ หรือยกเลิกข้อกำหนดที่จะต้องมีใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตรงตามกระบวนการตัดสินใจโดยปกติของราชการ การยกเลิกหรือลดข้อกำหนดทางกฎหมาย หรือการให้หรือช่วยเหลือในการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
เจ้าหน้าที่ของรัฐ
หมายถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามความหมายที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รวมถึง ข้าราชการ เจ้าพนักงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง ตัวแทน หรือบุคคลอื่นใด ที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานของรัฐดังต่อไปนี้
- กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ (เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ)
- องค์กรระหว่างประเทศ (เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ฯลฯ)
- พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง (ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) ผู้บริหารท้องถิ่น
- หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล (เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ)
- รัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัท หรือ องค์กรอื่น ๆ ที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม
นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทต้องไม่เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร ตนเอง ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก หรือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยให้ครอบคลุมถึงทุกธุรกิจในทุกพื้นที่ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ และให้รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. บริษัทจะต้องจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือกับการทุจริตคอร์รัปชั่น บุคลากรของบริษัทดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท และอาจได้รับโทษตามกฎหมายด้วย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
หน้าที่ความรับผิดชอบ
1. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดและอนุมัตินโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคณะกรรมการบริษัทจะจัดให้มีระบบการสนับสนุนเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกฝ่ายในบริษัทเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ และปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร
2. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการสอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอ รวมถึงระบบการรายงานทางด้านบัญชีและการเงิน ระบบการควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงของบริษัท รวมถึงการสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. ประธานกรรมการบริหาร คณะจัดการ และผู้บริหาร มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีการตรวจสอบ และถ่วงดุลระบบกระบวนการทำงานในองค์กร โดยจะส่งเสริม สนับสนุน และควบคุมดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการปฏิบัติงานตามระเบียบ และนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงจะมีการทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และกฎหมาย
4. หน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานประสิทธิภาพของระบบงานต่าง ๆ ในบริษัทเพื่อให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมายทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบ
5. บุคลากรในบริษัททุกคนมีหน้าที่ในการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้
6. บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือตัวแทนทางธุรกิจของบริษัทที่บริษัทมีอำนาจควบคุม ยอมรับที่จะปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัท
ขอบเขตและแนวทางปฎิบัติ
1. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ จะต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างระมัดระวัง เพื่อความชัดเจนในการดำเนินงานในเรื่องที่มีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนี้
- การให้และรับสินบน
ห้ามให้หรือรับสินบนในรูปแบบใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อเป็นการตอบแทนการให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับสินบนแทนตนเอง - ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ
การดำเนินงานของบริษัท และการติดต่องานกับภาครัฐ จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง - ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และผลประโยชน์อื่น ๆ
การให้หรือรับของขวัญ ทรัพย์สิน การเลี้ยงรับรอง หรือผลประโยชน์ใด ๆ จากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และให้ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัท โดยไม่ส่อเจตนาเป็นการให้หรือรับสินบน - การรับบริจาค การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และการให้หรือการรับเงินสนับสนุน
บริษัทฯ กำหนดว่าการรับบริจาค การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และการให้หรือการรับเงินสนับสนุน จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการกระทำการใด ๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม โดยบริษัทจะต้องมั่นใจว่าเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนดังกล่าว ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน และจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบทานและอนุมัติการบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ หรือเงินสนับสนุนตามระเบียบของบริษัทฯ
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ที่อาจส่งผลกระทบทางกฎหมาย ให้ขอคำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือในเรื่องที่มีความสำคัญประการอื่น ให้เป็นดุลพินิจของฝ่ายจัดการ
- การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทจะวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยบริษัทจะไม่จ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่กระทำการใดอันเป็นการสนับสนุนด้านการเงิน หรือผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นแก่พรรคการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ
2. นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคลากร ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผล และการให้ผลตอบแทน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นมีหน้าที่ในการสื่อสารและทำความเข้าใจกับพนักงานในสังกัด พร้อมทั้งควบคุม ดูแลการดำเนินการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้าง และรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมกับภาครัฐ หรือเอกชน
4. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ จะไม่เพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยจะแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่รับผิดชอบทราบทันที รวมถึงให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมทั้งจัดให้มีช่องทางในการรับข้อร้องเรียนจากบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายการรับเรื่องร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดและการทุจริต หรือระเบียบอื่นใดที่บริษัทกำหนด
5. บริษัทฯ จะต้องให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองบุคลากรของบริษัทที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยบริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่บริษัทกำหนดไว้ แม้ว่าการกระทำนั้นอาจทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม
6. กรรมการ และผู้บริหารทุกระดับของบริษัทจะต้องแสดงความซื่อสัตย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยกำหนดให้เลขานุการบริษัท และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์รับผิดชอบในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับยึดถือนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และจะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงปฏิบัติตามแนวทางการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่กำหนดโดยสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเสริมสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
7. การดำเนินการใด ๆ ตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ใน “นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี” รวมทั้งระเบียบ และคู่มือการปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทจะกำหนดขึ้นต่อไป
การสื่อสารและการฝึกอบรม
1. บริษัทฯ จะจัดให้มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่บุคลากรของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทรวมถึงการเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้สำนักกำกับดูแลการปฏิบัติงานและเลขานุการบริษัท รับผิดชอบในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้บุคลากรในบริษัทปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้อย่างจริงจัง และเสริมสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ การอบรมหรือสัมมนา การประชาสัมพันธ์ภายในสถานประกอบการและผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของบริษัท
2. บริษัทฯ กำหนดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสไปยังสาธารณชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ประกาศ เว็บไซต์ รายงานประจำปี และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี เป็นต้น
บทลงโทษ
หากผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นจริง การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และข้อพึงปฏิบัติทางธุรกิจและจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทได้กำหนดไว้ และหากการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นมีความผิดตามกฎหมาย ผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วย
การทบทวนนโยบาย
บริษัทฯ กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติหากมีการเปลี่ยนแปลง
นโยบายฉบับนี้อนุมัติโดย มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน