นโยบายบริษัท

นโยบายการบริหารความเสี่ยง

รายละเอียดของนโยบาย

1. บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทและตอบสนองต่อ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยกำหนดให้บริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนธุรกิจ ประจำปี การบริหารงานและการตัดสินใจประจำวัน รวมถึงกระบวนการบริหารโครงการต่างๆ

2. ผู้บริหารและพนักงานทุกคนของบริษัทฯเป็นเจ้าของความเสี่ยง ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการระบุ และ ประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อจัดการความเสี่ยง

3. ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทฯทั้งหมด ต้องได้รับการดำเนินงานดังนี้ 

  • ระบุความเสี่ยงอย่างทันเวลา
  • ประเมินโอกาสของการเกิดความเสี่ยงและผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
  • จัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดการความเสี่ยงดังกล่าว 
  • ติดตามดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงของบริษัทฯ ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม

4. ความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงและสูงมาก ทั้งหมด ต้องรายงานให้คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทรับทราบ 

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริษัท

1. มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยรวมในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงภายในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการบริหารงานภายใต้หลักการกำกับดูแลที่ดี 

2. มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและสอบทานบริหารความเสี่ยง และระบบควบคุมภายในของบริษัท

3. มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทให้ดำเนินกิจกรรมด้านการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายบริหาร 

4. ความเสี่ยงที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงภายในบริษัทอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

คณะทำงานบริหารความเสี่ยง

1. พิจารณาและให้ความเห็นต่อร่างนโยบาย และกรอบบริหารความเสี่ยง รวมถึงกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ความเบี่ยงเบนของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance) และมาตรการป้องกันแก้ไข ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ  

2. จัดทำนโยบายบริหารความเสี่ยงในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงโดยรวม และครอบคลุมถึงความเสี่ยงหลักที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก กลยุทธ์ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของกิจการ สำหรับเป็นกรอบการปฏิบัติงานในกระบวนการบริหารความเสี่ยงของทุกคนในองค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา โดยดูแลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีการระบุความเสี่ยง โดยพิจารณาปัจจัยทั้งภายนอกและภายในองค์กรที่อาจส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

3. สอบทานให้บริษัทมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

4. จัดทำรายงานของคณะทำงานบริหารความเสี่ยงเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทตามที่เห็นสมควร หรือเมื่อได้รับการร้องขอ 

5. พิจารณาและให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับผลการประเมินความเสี่ยง แนวทาง มาตรการ และแผนการการจัดการความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่เพียงพอและเหมาะสม 

6. กำกับดูแลและสนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัทบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้า หมายที่กำหนดไว้ ทั้งในระดับองค์กรและระดับโครงการ (Enterprise Wide Risk Management) โดยมุ่งเน้นให้ฝ่ายจัดการและพนักงานของบริษัททุกคนให้ความสำคัญและคำนึงถึงความเสี่ยง (Risk Awareness) และส่งเสริมให้บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรในด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Culture) โดยคณะทำงานบริหารความเสี่ยงจะติดตามแผนการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยง และจะนำมาพิจารณาประกอบการใช้ทรัพยากรและการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น จะได้รับการบริหารจัดการอย่างเพียงพอและเหมาะสม โดยคณะทำงานบริหารความเสี่ยงจะให้การสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง และ/หรือ ผู้บริหารความเสี่ยง (Risk Management) อย่างเต็มที่

7. ทบทวนความเพียงพอของนโยบาย และระบบการบริหารความเสี่ยงของบริษัท 

และบริษัทย่อย รวมถึงความมีประสิทธิผลของระบบ และการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดให้ข้อเสนอแนะในสิ่งที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดไว้ 

8. ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในกรณีที่บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานในบางส่วนที่บริษัทมีบุคลากรเฉพาะด้าน และ/หรือ ความรู้ความชำนาญที่ไม่ เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุผลตามแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม การว่าจ้างดังกล่าว จะต้องเป็นการว่าจ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น 

9. คณะทำงานบริหารความเสี่ยงจะต้องพิจารณาและทบทวนความเหมาะสมของกฎบัตรอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาในกฎบัตรนั้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ในการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในปัจจุบัน และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ 

คณะกรรมการตรวจสอบ 

คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเสี่ยงได้รับการบริหารจัดการและควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงการสอบทานความเพียงพอ และความมีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท 

คณะกรรมการบริหาร 

1. คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและสอบทานการบริหารความเสี่ยงและระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ 

2. ประธานคณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายฉบับนี้ และกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะทำงานบริหารความเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานหลักของบริษัทฯ โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธาน

ฝ่ายตรวจสอบภายใน

ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการสอบทานประสิทธิผลของการควบคุมภายในผ่านการตรวจสอบภายในประจำปี ซึ่งเป็นการตรวจสอบกระบวนการทางธุรกิจที่สำคัญตามปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งติดตามการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่ตรวจพบ 

บุคคลากรในองค์กร

ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการระบุ วิเคราะห์ ประเมิน และจัดลำดับความเสี่ยงของหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ รวมถึงกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการความเสี่ยง 

วิธีการบริหารความเสี่ยงองค์ประกอบและแนวทางในการบริหารความเสี่ยง

1. การกำหนดเป้าหมาย (Objective Setting) 

หมายถึง การเข้าถึงภารกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินงานของบริษัท โดยบริษัทควรมั่นใจว่าวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้นมีความสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จตามเป้าหมาย หน่วยวัดความสำเร็จ และระดับความคลาดเคลื่อนจากหน่วยวัดที่ยอมรับได้ ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายสำหรับการบริหารความเสี่ยงจะถูกกำหนดไว้ในแผนธุรกิจของบริษัท 

2. การกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Identification) 

หลังจากระบุเป้าหมายแล้ว บริษัทจะต้องกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Identification) โดย กำหนดขอบเขตการตัดสินใจและผลกระทบจากการตัดสินใจที่ยอมรับได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทจะยังคงสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยครอบคลุมในความเสี่ยง 5 ด้าน ดังนี้ 
(1.) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)

(2) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) 

(3) ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk) 

(4) ความเสี่ยงด้านการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ (Compliance Risk) 

(5) ความเสี่ยงด้านการทุจริต (Fraud Risk) 

2. การกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Identification) 

 

หลังจากระบุเป้าหมายแล้ว บริษัทจะต้องกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Identification) โดย กำหนดขอบเขตการตัดสินใจและผลกระทบจากการตัดสินใจที่ยอมรับได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทจะยังคงสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยครอบคลุมในความเสี่ยง 5 ด้าน ดังนี้ 
(1.) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)

(2) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) 

(3) ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk) 

(4) ความเสี่ยงด้านการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ (Compliance Risk) 

(5) ความเสี่ยงด้านการทุจริต (Fraud Risk)   

3. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)  
หมายถึง การคาดคะเนโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้น (Likelihood) ว่ามีความถี่มากน้อยเพียงใด และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Impact) จากความเสี่ยงนั้น ๆ ว่ามีระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้าความเสี่ยงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยและสามารถสร้างความเสียหายได้มาก ก็จะถูกจัดเป็นความเสี่ยงที่จะต้องถูกแก้ไขเป็นอันดับแรก 

4. การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Responses)  
การประเมินความเสี่ยงข้างต้น จะทำให้บริษัทสามารถจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่จะเข้าไปแก้ปัญหาได้ โดยบริษัทได้กำหนดวิธีการ หรือกลยุทธ์ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาหรือลดระดับความเสี่ยง ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนี้

(1) การยอมรับความเสี่ยง (Take / Accepted) กลยุทธ์นี้จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่เป็นการที่บริษัทพิจารณาแล้วว่าความเสี่ยงนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หากบริษัทตัดสินใจเลือกที่จะลดระดับความเสี่ยงนั้น อาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่าย หรือเวลาที่มากเกินควร จึงเลือกที่จะยอมรับความเสี่ยงนั้น

(2) การควบคุมความเสี่ยง (Treat)  เป็นการลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง เช่น การควบคุมคุณภาพ (Quality control: QC) เพื่อลดข้อบกพร่อง (Defect) ของสินค้า หรือการปรับวิธีการทำงาน หรือกำหนดมาตรการในการติดตาม เป็นต้น 

(3) การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Terminate)  เป็นการกำจัดความเสี่ยงออกไป ถ้าพิจารณาแล้วได้ไม่คุ้มเสีย เช่น การยกเลิกโครงการ เป็นต้น 

(4) การถ่ายโอนความเสี่ยง (Transfer)  ซึ่งอาจจะเป็นการดำเนินการให้บุคคลที่สามมารับความเสี่ยงนี้ไป เช่น การทำประกันภัย เป็นต้น 

5. กิจกรรมควบคุม (Control Activities)  

หมายถึง วิธีการปฏิบัติงานที่กำหนดขึ้นเพื่อช่วยให้ฝ่ายบริหารมั่นใจได้ว่ามีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการควบคุม ป้องกัน ค้นพบ และแก้ไข ซึ่งรวมถึงวิธีการดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดวิธีการปฏิบัติงาน หรือจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน

(2) การรับรอง / อนุมัติ  

(3) การสอบทานผลการปฏิบัติงาน 

(4) การรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูลหรือการเข้าถึงระบบข้อมูล 

(5) การแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบ  

ทั้งนี้ กิจกรรมการควบคุมจะถูกออกแบบ และกำหนดอยู่ในวิธีการปฏิบัติงานในทุกส่วนงาน และ 

ทุกระดับชั้นงาน โดยผู้บริหารและพนักงานทุกระดับล้วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมควบคุมดังกล่าว 

6. การติดตามและประเมินผล (Monitoring)  

(1) เนื่องจากสภาพแวดล้อมของบริษัททั้งภายนอกและภายในนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นกิจกรรมการควบคุมอาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลง หรือเป้าหมายในการดำเนินงานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามตรวจสอบอยู่เสมอว่าการบริหารความเสี่ยงนั้น ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้ใน 2 วิธีการ คือ การติดตามตรวจสอบระหว่างการปฏิบัติงาน (Ongoing Monitoring) และการประเมินผลเป็นช่วง ๆ (Separate Evaluation) 

(2) การรายงานผลเป็นการเข้าถึงข้อมูลและปัญหาของผู้บริหาร ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไม่ได้เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานโดยตรง ดังนั้น เมื่อพบเจอลักษณะที่บ่งชี้ถึงปัญหา  จะช่วยให้บริษัทสามารถเข้าไปแก้ปัญหานั้นได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ การบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพในระยะยาวนั้น จำเป็นจะต้องมีการประเมินผลเป็นระยะ ๆ  โดยบริษัทอาจให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ประเมิน (Independent Appraisal) หรือใช้วิธีการในลักษณะของการประเมินตนเอง (Self- Appraisal) ก็ได้ 

7. สภาพแวดล้อมภายในองค์กร (Internal Environment) 
บริษัทได้จัดโครงสร้างภายในองค์กร โดยกำหนดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และบรรยากาศที่เอื้ออำนวยเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อการกำหนดกลยุทธ์ และเป้าหมายของบริษัท โดยองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมภายในบริษัท คือ ปรัชญา ความเชื่อ และวัฒนธรรมในการบริหารความเสี่ยง เพื่อสร้างมูลค่าให้กับบริษัทในระยะยาวและอีกปัจจัยที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง คือ บทบาทของคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทจะเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ 

8. สารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication)  

หมายถึง การจัดการของบริษัทให้มีระบบการสื่อสาร ระบบสารสนเทศ และระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารและพนักงานทุกคนเข้าใจกระบวนการ และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง ได้แก่ 

(1) ผู้บริหารระดับสูง มีการสื่อสารเกี่ยวกับนโยบายบริหารความเสี่ยงและสถานการณ์ความเสี่ยงให้แก่พนักงานทุกคนเข้าใจ และดำเนินการบริหารความเสี่ยงตามบทบาทหน้าที่ของตน 

(2) จัดให้มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้บริหาร และพนักงาน 

(3) จัดให้มีการประสานงานระหว่างงานบริหารความเสี่ยง กับงานตรวจสอบเพื่อที่จะได้เกิดการ 

แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน 

(4) จัดให้มีการสื่อสารข้อมูล และสาระความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอและทันต่อเหตุการณ์

การทบทวนนโยบาย

บริษัทฯ กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง และเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติหากมีการเปลี่ยนแปลง 
นโยบายฉบับนี้อนุมัติโดย มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน