นโยบายบริษัท
นโยบายการแจ้งเบาะแสและการรับเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดและการทุจริต
นโยบายการแจ้งเบาะแส และการรับเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดและการทุจริต
ขอบเขตของการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
บริษัทฯ ได้กำหนดให้ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ที่อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่อบริษัทฯ
1. การกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย หรือการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี คู่มือจริยธรรมทางธุรกิจ และนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
2. การฝ่าฝืนกฎระเบียบ และข้อบังคับของบริษัท
3. การจัดทำเอกสารทางการเงินที่เป็นเท็จ และระบบการควบคุมภายในของบริษัทที่บกพร่อง
4. การกระทำที่ถือว่าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
ผู้มีสิทธิร้องเรียน
1. พนักงานที่พบเห็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อพึงปฏิบัติ หรือจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท
2. พนักงานที่ถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ ถูกลงโทษทางวินัย เช่น ถูกลดขั้นเงินเดือน ถูกพักงานให้ออกจากงาน หรือถูกเลือกปฏิบัติด้วยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากการที่ตนได้ร้องเรียน ให้ข้อมูล หรือช่วยเหลือในขั้นตอนการสืบสวน สอบสวน หรือรวบรวมข้อเท็จจริงให้แก่ผู้รับเรื่องร้องเรียน รวมไปถึงการฟ้องร้อง การดําเนินคดี การเป็นพยาน การให้ถ้อยคํา หรือการให้ความร่วมมือใด ๆ ต่อศาลหรือหน่วยงานของรัฐ
ผู้รับข้อร้องเรียน
1. คณะกรรมการบริษัท
2. ประธานกรรมการตรวจสอบ และ/หรือ กรรมการตรวจสอบ
3. เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียนการกระทำความผิดและการทุจริต
บริษัทฯ ได้จัดเตรียมและเปิดโอกาสให้มีช่องทางในการร้องเรียน แจ้งเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดหรือการทุจริตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการ การป้องกันและปราบปรามการต่อต้านการกระทำความผิดและการทุจริต โดยผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสจะต้องแจ้ง ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้อย่างชัดเจน รวมถึงชื่อบุคคลผู้กระทำความผิดและเหตุการณ์การกระทำความผิด หรือการทุจริตที่เป็นข้อมูลเชื่อถือได้ มีหลักฐาน พยาน (ถ้ามี) ตามช่องทางดังต่อไปนี้
1. ผ่านทางอีเมล (E-mail) : คณะกรรมการ (seccom@gpmobility.co.th) หรือ ประธานกรรมการตรวจสอบ และ/หรือ กรรมการตรวจสอบ ac@gpmobility.co.th)
2. ผ่านทางไปรษณีย์ : ระบุหน้าซองถึงคณะกรรมการ หรือ ประธานกรรมการตรวจสอบ และ/หรือ กรรมการตรวจสอบ
3. ส่งมายังที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท : บริษัท จีพี โมบิลิตี้ จำกัด (มหาชน) 2 ซอยวิภาวดี 50 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10900
4. ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ : https://gpmobility.co.th
5. กล่องรับข้อเสนอแนะ / ความคิดเห็น / ข้อร้องเรียนภายในบริษัท
ทั้งนี้ ช่องทางการแจ้งเบาะแสดังกล่าว เป็นช่องทางที่ปลอดภัย ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดหรือการทุจริต รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมั่นใจ
สำหรับการตรวจสอบ บริษัทฯ จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดและการทุจริตตามขั้นตอนและบันทึกการสอบสวนดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยบริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส และจัดเก็บข้อมูลการร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสดังกล่าวไว้เป็นความลับ เพื่อคุ้มครองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสในอนาคต
ในกรณีที่บริษัทพบว่าการร้องเรียน การแจ้งเบาะแส การใช้ถ้อยคำ หรือการให้ข้อมูลใด ๆ ที่มีหลักฐานและสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่ไม่สุจริต และมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับโทษทางวินัยตามข้อบังคับของบริษัท และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
1. เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียน บริษัทฯ จะมอบหมายให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นที่เหมาะสมทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง (“ผู้ตรวจสอบฯ”) ตามที่ได้รับร้องเรียน
2. หากตรวจสอบแล้วพบว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นความจริง บริษัทฯ จะดําเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นการร้องเรียนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทําการอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อพึงปฏิบัติ หรือจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท ให้ผู้ตรวจสอบฯ พิจารณาเสนอข้อร้องเรียนดังกล่าวพร้อมความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณารับทราบ สั่งการ และกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(2) ภายหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะเสนอแนวทางในการดำเนินการต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาสั่งการและกำหนดแนวทางในการดำเนินการแก้ไข และพิจารณากำหนดบทลงโทษต่อไป
(3) ในกรณีที่ข้อร้องเรียนดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้ตรวจสอบฯ จะเสนอวิธีการบรรเทาความเสียหายที่เหมาะสม และเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายตามที่เห็นสมควรก็ได้
การสอบสวนและบทลงโทษ
ในกรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีข้อมูลหรือหลักฐานที่มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน กระทำการที่ผิดต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อพึงปฏิบัติ หรือจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัทจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและพิสูจน์ตนเอง โดยหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหานั้น
ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน กระทำการที่ผิดต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อพึงปฏิบัติ หรือจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัทจริง จะถือว่าบุคคลดังกล่าวฝ่าฝืนต่อนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมทางธุรกิจ โดยจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และในกรณีที่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษทั้งทางกฎหมายและโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทด้วย
มาตรการคุ้มครอง รักษาความลับ ปกป้องผู้ที่แจ้งข้อมูลหรือผู้ให้เบาะแส
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส และผู้ให้ข้อมูลที่กระทำการโดยสุจริต บริษัทจะปกปิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุตัวผู้ร้องเรียนหรือ
ผู้แจ้งเบาะแส และเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ โดยจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยบริษัทกำหนดให้มีมาตรการดังต่อไปนี้
1. ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสสามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้ หากเห็นว่าการเปิดเผยดังกล่าวอาจทําให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง แต่ผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นได้ว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทําที่เป็นการทุจริต หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อพึงปฏิบัติ หรือจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัทเกิดขึ้น
2. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนของบริษัท ถือเป็นความลับ และจะเปิดเผยเท่าที่จําเป็น โดยบริษัทจะคํานึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้รายงานแหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอนจะต้องเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับรู้ไว้เป็นความลับสูงสุด และไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น หากฝ่าฝืน จะถือว่าเป็นการกระทําความผิดวินัย
3. ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของกรรมการหรือผู้บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบจะทำหน้าที่คุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส พยาน หรือผู้ให้ข้อมูลในการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตราย ความไม่ชอบธรรมอันเกิดจากการแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูลดังกล่าว
4. บริษัทจะไม่กระทำการอันใดที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน พักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
5. คณะกรรมการ หรือ ประธานกรรมการตรวจสอบ และ/หรือ กรรมการตรวจสอบ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจะต้องเก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของ
ผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว อาจพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสได้ตามความเหมาะสม หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหาย หรือความไม่ปลอดภัยต่อผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสอันเนื่องมาจากการร้องเรียนตามนโยบายฉบับนี้
6. พนักงานที่ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น อันมีเหตุจูงใจมาจากการที่บุคคลอื่นนั้นได้ร้องเรียน แจ้งข้อมูล หรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หลักข้อพึงปฏิบัติ หรือจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท รวมไปถึงการที่บุคคลอื่นนั้นฟ้องร้อง ดําเนินคดี เป็นพยานให้ถ้อยคำ หรือให้ความร่วมมือใด ๆ ต่อศาลหรือหน่วยงานของรัฐ จะถือว่าเป็นการกระทําความผิดทางวินัยที่ต้องได้รับโทษ ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวอาจได้รับโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้ด้วย หากการกระทําดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
7. ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือความเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยวิธีการหรือกระบวนการที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
การรายงาน
บริษัทกำหนดให้เลขานุการบริษัท มีหน้าที่จัดทำทะเบียน รับเรื่องร้องเรียน และเบาะแสการกระทำความผิดและการทุจริต รวมถึงการจัดทำรายงานสรุปการรับแจ้งข้อมูลการกระทำความผิดและการทุจริตทั้งหมดของบริษัท และรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบเป็นประจำไตรมาสละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ บริษัทจะจัดให้มีการทบทวนนโยบาย โดยเลขานุการบริษัท ฝ่ายตรวจสอบภายใน และฝ่ายกฎหมายจะร่วมกันทบทวนและปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามความจำเป็นและเหมาะสมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาเห็นชอบและมีความเห็นให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติการทบทวนและปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ต่อไป
การทบทวนนโยบาย
บริษัทฯ กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติหากมีการเปลี่ยนแปลง
นโยบายฉบับนี้อนุมัติโดย มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน