เบรกเฟด (Brake Fade) อาการที่ระบบเบรกของรถยนต์สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “เบรกไม่อยู่” หรือ “เบรกจม” ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายอย่างยิ่งเพราะทำให้ระยะเบรกไกลขึ้นกว่าปกติ หรือในกรณีที่รุนแรงอาจไม่สามารถชะลอหรือหยุดรถได้เลยแม้จะเหยียบแป้นเบรกสุดแล้วก็ตาม
อาการเบรกเฟดเป็นอย่างไร?
- เหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าแป้นเบรกจมลึกกว่าปกติ
- ต้องออกแรงเหยียบเบรกมากขึ้น
- เหยียบเบรกแล้วรถไม่ค่อยอยู่ รู้สึกว่ารถลื่นไถลไปข้างหน้ามากกว่าปกติ
- ได้กลิ่นไหม้ บริเวณล้อรถ ซึ่งเกิดจากความร้อนสูงของผ้าเบรกและจานเบรก
อันตรายแค่ไหน?
การเกิดเบรกเฟดหมายถึงการสูญเสียการควบคุมรถยนต์ในการหยุดรถ สถานการณ์ที่มักเกิดเบรกเฟด ได้แก่
- ขณะขับรถลงเขาหรือทางลาดชันเป็นเวลานาน: การใช้เบรกอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความร้อนสะสมสูง
- การเบรกกะทันหันด้วยความเร็วสูง: ทำให้ระบบเบรกต้องรับภาระหนักในทันที
- การบรรทุกของหนักเกินพิกัด: ทำให้ระบบเบรกต้องทำงานหนักขึ้นกว่าปกติ
สาเหตุหลักของอาการเบรกเฟด
1.เฟดจากผ้าเบรกและจานเบรก (Friction Fade):
เกิดจากการเสียดสีระหว่างผ้าเบรกและจานเบรกอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จนเกิดความร้อนสะสมเมื่อความร้อนสูงถึงจุดหนึ่ง (ประมาณ 400-500°C ขึ้นไป) เนื้อของผ้าเบรกจะเกิดการสลายตัวเป็นแก๊สบางๆมาคั่นกลางระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรก ทำให้ความฝืดลดลงอย่างรวดเร็ว
อาการ: แป้นเบรกจะยังรู้สึก “สู้เท้า” หรือแข็ง แต่รถไม่ยอมหยุด
2.เฟดจากน้ำมันเบรก (Fluid Fade):
ความร้อนจากจานเบรกและคาลิปเปอร์จะถูกส่งผ่านไปถึงน้ำมันเบรก มีจุดเดือดต่ำลง เมื่อได้รับความร้อนสูง น้ำมันเบรกจะเดือดและกลายเป็นไอในท่อทางเดินน้ำมัน
อาการ: แป้นเบรกจะ “จม” หรือ “นิ่มยวบ” ลงไปจนเกือบติดพื้น แต่ไม่มีแรงเบรกเกิดขึ้น
วิธีป้องกันเบรกเฟด
การดูแลรักษาระบบเบรกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เสมอ คือหัวใจสำคัญของการป้องกันอาการเบรกเฟด เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ โดยมีจุดที่ต้องตรวจสอบและเปลี่ยนตามระยะดังนี้
1.ผ้าเบรก (Brake Pads)
ตรวจสอบความหนาของผ้าเบรกเป็นประจำ หากผ้าเบรกเหลือน้อยกว่า หรือเท่ากับ 3 มิลลิเมตร ควรเปลี่ยนทันที
2.จานเบรก (Brake Discs)
ควรทำการเปลี่ยนจานเบรกเมื่อความหนาของจานเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าที่กำหนดนั้น การฝืนใช้จานเบรกที่บางเกินไปจะทำให้การระบายความร้อนลดลงและเสี่ยงต่อการแตกร้าวได้
3.น้ำมันเบรก (Brake Fluid)
ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทั้งระบบ ทุกๆ 2 ปี หรือทุก 40,000 กิโลเมตร เนื่องจากน้ำมันเบรกมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นจากอากาศ ซึ่งทำให้จุดเดือดลดต่ำลงและเป็นสาเหตุหลักของอาการ “เบรกจม”